รอบรู้งานวิจัย: ข้อสังเกตเกี่ยวกับภาษาไทยในการเขียนรายงานการวิจัย

รอบรู้งานวิจัย: ข้อสังเกตเกี่ยวกับภาษาไทยในการเขียนรายงานการวิจัย

การเขียนรายงานวิจัยโดยทั่วไปจะเขียนตามแบบวิชาการ คือ ใช้ภาษาเขียนที่สุภาพและภาษาทางการอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ภาษาพูดหรือภาษาที่แสดงความสนิทสนม เนื้อหาที่เขียนควรกระชับ ตรงประเด็น นอกจากนี้ ผู้เขียนรายงานจะต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ด้านภาษาด้วย โดยเฉพาะเมื่อเขียนรายงานการวิจัยเป็นภาษาไทย ผู้เขียนรายงานควรยึดแนวทาง ดังต่อไปนี้

 

1 การสะกดการันต์คำในภาษาไทย ควรถือตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเป็นมาตรฐานการใช้ภาษาของทางราชการ หากไม่แน่ใจ ควรตรวจสอบพจนานุกรมฉบับนี้เสมอ เช่น คำว่า อะลูมิเนียม (ไม่ใช่ “อลูมิเนียม”)
2 การทับศัพท์คำในภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย ควรใช้หลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถาน โดยดูจากหนังสือหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ เช่น  ซอฟต์แวร์ (software) อินเทอร์เน็ต (Internet) ดิจิทัล (digital)
3 ควรใช้ลักษณนามที่เป็นหน่วยของการนับให้ถูกต้อง เช่น “โจร 3 คน บุกเข้าปล้นร้านค้า” (ไม่ใช่ “3 โจรบุกเข้าปล้นร้านค้า”) “เกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน” (ไม่ใช่ “เกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ศพ”) โปรดดูหนังสือลักษณะนาม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พ.ศ.2546
4 สร้างประโยคให้กระชับ โดยพยายามตัดคำฟุ่มเฟือยทิ้ง เช่น “ในอนาคตข้างหน้า” “ในอดีตที่ผ่านมา
5 ใช้คำบุพบท “ต่อ” “แก่ และ “กับ” ให้ถูกต้องเหมาะสม เช่น “เขาร้องเรียนต่อหน้าผู้ใหญ่” (ไม่ใช้ “แก่” หรือ “กับ”)
6 ควรใช้คำไทยและสำนวนไทยแทนคำและสำนวนภาษาต่างประเทศ เช่น “สมาคมนี้จัดกิจกรรมทุกปี” (แทนที่จะใช้ “สมาคมนี้จัด activity ทุกปี” โปรดดูหนังสือศัพท์ต่างประเทศที่ใช้ภาษาไทยแทนได้ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พ.ศ.2549
7 ใช้การเว้นวรรคและเครื่องหมายวรรคตอนให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ข้อความกำกวม เช่น “ยานี้กินแล้วแข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน” ไม่เขียนว่า “ยานี้กินแล้วแข็งแรงไม่มี โรคภัยเบียดเบียน
8 สร้างประโยคให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ไทย และเรียงลำดับประโยคให้ความกระชับ โดยวางประธาน กริยา กรรม หรือประโยคขยายให้ถูกที่

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: หนังสือคู่มือ “นักวิจัยมือใหม่” จัดทำโดย กลุ่มทรัพยากรบุคคล สำนักงานคณะรกรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)